วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความเป็นเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์

ประเด็นที่ 1 แนวความคิดโลกาภิวัฒน์ของประเทศตะวันตก 

ในมุมหนึ่งเป็นการพยายามตั้งทิศทางการพัฒนา ‘เมือง’ ทุกเมืองในโลกให้มีมาตรฐานเดียวกัน ในแง่ของจำนวนประชากรต่อสาธารณูปโภคและสาธารณูปการพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบขนส่งมวลชน สถานพยาบาล สถานศึกษา ฯลฯ รวมทั้งบทบาทของเมืองแต่ละประเภท ที่กำหนดตามศักยภาพของพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติ และระยะทางของเมืองนั้น ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่มาตรฐานและทิศทางการพัฒนาดังกล่าว ขาดความยืดหยุ่นในมิติของวัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละท้องถิ่น (Cultural Diversity) ทำให้สภาพของเมืองใหญ่ที่เห็นได้ในทุกประเทศ แทบจะเหมือนกัน มี KFC GAP JUSCO LOTUS ซึ่งทำลายเศรษฐกิจชุมชน มีถนน สะพานขนาดใหญ่ แต่ไม่มีทางให้คนเดิน มีหมู่บ้านพักอาศัยขนาดใหญ่ ที่แทบจะรกร้างในเวลาทำงาน ฯลฯ

ด้วยพื้นฐาน (ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม) ที่แตกต่างในแต่ละประเทศ น่าจะทำให้ทิศทางการพัฒนา ‘เมือง’ แตกต่างกันไปด้วย (มีมาตรฐานของตัวเอง) ไม่ใช่ทุกเมืองต้องมีสนามบิน ไม่ใช่ทุกเมืองต้องเป็นเขตอุตสาหกรรม ปัจจัยที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ คือ ธรรมชาติ หากพื้นที่นั้นมีดินมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ก็ควรใช้เป็นแหล่งผลิตด้านการเกษตร ไม่ต้องสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นสังคมเมือง หากพื้นที่นั้นเป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีโบราณสถานมากมาย ก็ควรควบคุมทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองใหม่ ให้ออกนอกเขตอันควรอนุรักษ์ และจำกัดการพัฒนาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นต้น

‘ทำไมทุกจังหวัดในประเทศไทย ต้องมีห้าแยกหอนาฬิกา วงเวียนน้ำพุ เอกลักษณ์ประจำจังหวัดอยู่ที่ไหน?’

ประวัติการผังเมืองไทยในยุคสมัยแรกเริ่ม (จอมพล ป.) รับแนวความคิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกายภาพส่วนใหญ่ของประเทศเขาเป็นพื้นที่ว่าง ราบเรียบ กว้างใหญ่ การออกแบบผังเมืองจึงสามารถใช้รูปเรขาคณิต ขีดตามขอบเขตที่ต้องการ ได้ในทุกเมือง และอีกสาเหตุที่สำคัญคือ สหรัฐเป็นประเทศเกิดใหม่ ไม่มีเมืองประวัติศาสตร์ จึงมิได้ให้คุณค่าต่อการอนุรักษ์องค์ประกอบเมืองเก่า (Urban Fabric) ในการวางผัง ทำให้เกิดเหตุการณ์ถมคลองเก่า สร้างถนน (เช่น ในเขตอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ จนทำลายลักษณะ “เวนิสตะวันออก” เสียสิ้น)

การวางผังเมือง โดยไม่คำนึงถึงเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น จึงเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ทั้งด้ายกายภาพ (การทำลายโบราณสถาน) และด้านสังคม (คนเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ลืมภูมิปัญญาท้องถิ่น)



ประเด็นที่ 2 การขาดข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดวิชาทางการพัฒนา 

เนื่องจากรูปแบบการบริหารและการปกครองของภาครัฐในประเทศไทย มีลักษณะเป็น TOP DOWN บุคลากรที่ศึกษาวิจัย และกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น เป็นคนในส่วนกลาง ไม่มีความรู้เรื่องพื้นที่เพียงพอ แม้จะใช้วิธีการจ้างสถาบันการศึกษา ดำเนินการแทนแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และเวลา จึงไม่อาจทำให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดได้ ระยะเวลาที่น้อยที่สุดสำหรับการเก็บข้อมูลในพื้นที่หนึ่ง ๆ ควรครบวงจรธรรมชาติหนึ่งปี เพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ได้แก่ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ (เช่น น้ำหลาก) และวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล ในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย 

ปัญหาที่มักพบเห็นได้แก่ การตัดถนนขวางทางน้ำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้องเสียงบประมาณในการซ่อมทางทุกปีแล้ว ยังอาจเป็นเหตุให้น้ำบ่าทะลักเข้าท่วมเมืองได้ เช่น จังหวัดสงขลา – แม่ฮ่องสอน ในปี 2544 เป็นต้น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ วิถีชีวิตชุมชนที่ปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติในท้องที่นั้น ๆ 

ในอดีตเราจะพบเห็นบ้านเรือนอยู่อาศัย ประเภท เรือนแพ หรือบ้านยกใต้ถุนสูง ในชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำ นั่นเพราะชุมชนเรียนรู้ที่จะปลูกเรือนให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและปรากฏการณ์ธรรมชาติของพื้นที่ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก็ไม่เดือดร้อนจนไร้ที่อยู่เหมือนปัจจุบัน ดังนั้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านวิถีชีวิตชุมชนก็จำเป็นต่อการกำหนดรูปแบบการพัฒนาของพื้นที่หนึ่งด้วย หากพื้นที่ใดมีน้ำหลากในฤดูฝน ก็ควรกันเขตไว้เป็นพื้นที่รับน้ำ หรือ แหล่งเกษตรกรรม เพราะน้ำหลากจะน้ำตะกอนปุ๋ยมาด้วย ทำให้พื้นที่นั้นอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทั้งนี้ก็ต้องเลือกพันธุ์พืชหรือวางแผนการเพาะปลูกตามช่วงกาลเวลาให้เหมาะสมกับฤดูกาลด้วย จึงจะสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติและมีประสิทธิภาพเต็มที่ รวมทั้งการออกแบบสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกลมกลืนกับสภาพพื้นที่และปรากฏการณ์ธรรมชาติของทั้งถิ่นนั้นๆ ด้วย

“การผลิตเป็นจำนวนมาก เป็นการทำลายสมดุลธรรมชาติ”

“หรือ คำตอบอยู่ที่ การเกษตรที่พอเพียง”

ทุกวันนี้ข้อมูลที่รัฐบาลใช้ชี้นำเกษตรกรในการผลิต คือ ปัจจัยด้านการตลาด การส่งออกโดยไม่ได้คำนึงถึงการรองรับได้ของพื้นที่ หรือสมดุลของธรรมชาติเลย เมื่อเกษตรกรเร่งผลิต โดยการปลูกพืชผลประเภทเดียวเป็นจำนวนมากมาก ทำให้ดินขาดแร่ธาตุเฉพาะอย่าง เกษตรกรก็ต้องซื้อปุ๋ยที่ผสมเคมีเฉพาะอย่างตามที่ขาดนั้น ทำให้สภาวะของดินผิดไปจากธรรมชาติ จนขาดปุ๋ยไม่ได้ หรือปัญหาแมลงศัตรูพืช หรือโรคระบาด ซึ่งก็ล้วนเป็นผลจากการผลิตพืชประเภทเดียวกันเป็นจำนวนมากจนเสียสมดุล การใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี รักษาโรคพืช หรือปุ๋ย อันเป็นตัวการสำคัญ ในการทำลายสมดุลธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็นวงจรอันไม่รู้จบต่อไป

ดังนั้นการวิจัยด้านการเกษตร จึงจำเป็นต้องลงพื้นที่ ศึกษาทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ ศึกษาพันธุ์พืชที่เหมาะสม ปริมาณที่เหมาะสม พืชต่างพันธุ์ที่พึ่งพากันได้ (ในแง่ของสารอาหารในดิน และ ศัตรูตามธรรมชาติทั้งแมลงและโรคพืช) วงจรแมลงระบาดรวมทั้งเทคโนโลยีการผลิต ที่ไม่ทำลายสภาพธรรมชาติหรือราคาแพงจนเกษตรกรเดือดร้อน เป็นต้น แน่นอนผลจากการวิจัยนี้ อาจจะทำให้ปริมาณการผลิตไม่ได้ตามเป้าหมายเพื่อการตลาดหรือการส่งออก แต่จะเป็นปริมาณการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติ จะช่วยลดต้นทุน (ค่าสารเคมี และปุ๋ย) ให้เกษตรกรและส่งเสริมอาชีพอย่างยั่งยืน (ดินไม่เสียจนเพาะปลูกไม่ได้และต้องเปลี่ยนอาชีพ)

“เมืองประวัติศาสตร์ ห้ามใช้ผังเมืองไข่แดง”

“การท่องเที่ยว มีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ”

การกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ของเมืองใหม่ทั่วไป มักใช้แนวความคิดแบบศูนย์กลางกระจายตัว (Concentric Concept) คือ มีศูนย์กลางความเจริญสูงสุด ณ จุดกึ่งกลาง เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมหนาแน่น และค่อยเบาบางลง เป็นพื้นที่พักอาศัย นันทนาการ ที่รอบนอก จนถึงพื้นที่เกษตรกรรมนอกเมือง แต่สำหรับเมืองประวัติศาสตร์ของไทย เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี ฯลฯ ซึ่งยังคงมีร่องรอยองค์ประกอบเมืองเก่า (ป้อม กำแพง ถนน คลอง สถานที่สำคัญ พื้นที่ระหว่างถนน) อย่างชัดเจน หากใช้แนวความคิดนี้ในการวางผัง จะเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองได้ เพราะหากสิ่งเสริมกิจกรรมเข้มข้น เช่น การพาณิชยกรรม หรือศูนย์ราชการ ไว้ในศูนย์กลาง (ซึ่งมักเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญ และมีถนนแคบ มีพื้นที่ระหว่างถนนขนาดเล็ก) ก็ต้องมีการสร้างเสริมสาธารณูปโภคสมัยใหม่เข้าในพื้นที่หรือขยายถนน จนเสียสภาพดั้งเดิม เป็นการทำลายภูมิทัศน์ของเมืองประวัติศาสตร์ในภาพรวม รวมทั้งบรรยากาศความเป็นเมืองเก่าด้วย การวางผังเมืองสำหรับเมืองประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ต้องมีการศึกษาวิจัยวิวัฒนาการของเมือง วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ-สังคม ชุมชน ที่เหมาะสมกับเมืองเก่า ศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่และที่สำคัญ ควรกำหนดโซนพัฒนาสำหรับเมืองใหม่ ในพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ แต่ต้องสามารถติดต่อถ่ายเทระหว่างโซนพัฒนากับเมืองในเขตอนุรักษ์ได้อย่างสะดวกด้วย เพื่อไม่ให้ชุมชนในเมืองเก่าถูกตัดขาด จนเป็นเมืองร้างไป

การกันเขตอนุรักษ์ เป็นมาตรการเบื้องต้นทางผังเมืองที่ใช้ป้องกันการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโบราณสถาน ซึ่งทั้งนี้ต้องมีมาตรการอื่นมาประกอบด้วย เพื่อความเป็นธรรมของผู้อยู่อาศัย ในเขตอนุรักษ์ (เพราะมีข้อบังคับมากกว่าผู้อยู่อาศัยในโซนพัฒนา) เช่น มาตรการด้านภาษี หรือแรงจูงใจรูปแบบอื่น ๆ เมื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองเก่าได้ ทำให้เมืองนั้นมีเอกลักษณ์น่าสนใจ ก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข่ามาสู่พื้นที่ จริงอยู่การท่องเที่ยวมีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มชีวิตชีวาให้แก่เมือง แต่หากไม่ควบคุมปริมาณและคุณภาพ ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมีอีกหลายประการ ทั้งปัญหาขยะ ปัญหาสาธารณูปโภคดั้งเดิม ไม่สามารถรองรับได้ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบไม่เหมาะสม ก็ทำลายภูมิทัศน์ของเมืองเก่า การเกิดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ เช่น บาร์ โรงแรม ทำลายบรรยากาศขลังของเมืองเก่า รวมทั้งการเปลี่ยนอาชีพของชุมชน เพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ก็เป็นการทำลายสภาพเศรษฐกิจ – สังคมชุมชนดั้งเดิม ไปด้วย การเน้นแต่ปริมาณนักท่องเที่ยว และจำนวนเงินเข้าประเทศอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านลบ จะส่งผลเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่นในแหล่งท่องเที่ยวนั้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ วัฒนธรรมและจิตใจด้วย

“ข้อมูลต้องแค่ไหนถึงจะพอในการวิจัย”

ในความจริงแล้ว การวิจัยทางสังคม (Social Research) เป็นสหวิทยาการที่ต้องการข้อมูลหลากหลายด้าน จนบางครั้งแทบกำหนดขอบเขตไม่ได้ เพราะทุกปัจจัยล้วนมีส่วนสัมพันธ์กันทั้งหมด ทั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรม สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาสลัมในเมืองใหญ่เกิดจากแมลง !? (เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ดินขาดสารอาหาร ทำให้เกิดแมลงศัตรูพืช ทำให้ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยบำรุงดินและยากำจัดศัตรูพืช ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษในดิน พืชเพาะปลูกไม่ได้ผลดี หรือหาตลาดซื้อพืชผลได้ยาก ขาดรายได้ ทั้งรายจ่ายค่าสารเคมีก็มาก เมื่อสู้ภาระหนี้สินไม่ได้ ก็ต้องขายที่ดิน อพยพเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ แต่ความยากจนทำให้ไม่สามารถซื้อบ้านพักอาศัยได้ จึงต้องบุกรุกที่ดินสาธารณะ กลายเป็นสลัมในเมืองใหญ่ในที่สุด) จะเห็นได้ว่าปัจจัยของปัญหาหนึ่งเดียวนี้ มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเรื่องการศีกษาอบรมด้านจริยธรรม และค่านิยมที่เหมาะสมกับพื้นฐานของไทย ดังนั้นผู้ทำการวิจัยต้องมีความเข้าใจต่อสภาพปัจจุบันและปัญหาเฉพาะของท้องที่หนึ่ง ๆ อย่างชัดเจนก่อน จึงจะสามารถกำหนดกรอบการศึกษาได้ว่า พื้นที่นั้นจะต้องเน้นศึกษาด้านไหนเป็นพิเศษ เหตุและปัจจัยของปัญหากว้างขวางครอบคลุมเพียงไหน ต้องใช้เวลาเท่าไร (อย่างน้อย 1 ปี ?) ต้องใช้วิธีการอะไร ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ระเบียบข้อบังคับของทางราชการที่จะจ้างดำเนินการวิจัยต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามขอบเขตของการวิจัยเฉพาะพื้นที่ ไปด้วย



ประเด็นที่ 3 ดัชนีชี้วัดและการประเมินผล

เครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการวิจัยทางสังคมที่เป็นมาตรฐานสากลยอมรับได้ทั่วโลก คือ ดัชนีชี้วัด หากเป็นตัวแปรที่เป็นรูปธรรมก็ไม่มีปัญหา เช่น จำนวนประชากร ความหนาแน่นสิ่งปลูกสร้าง ระยะทาง อัตราการเกิด พื้นที่ดินเค็ม ผลผลิตการเกษตรต่อพื้นที่ ฯลฯ แต่หากตัวแปรนั้นเป็นนามธรรม จะใช้วิธีไดมาวัด เช่น ความมีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรับผิดชอบ ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสังคมในปัจจุบัน แม้ว่าเมืองนั้นจะได้รับการพัฒนาจนได้ตามมาตรฐานสากลแล้ว (จำนวนประชากรไม่หนาแน่นจนเกินไป , อัตราการตกงานต่ำมาก, สัดส่วนต่อแพทย์ 1 คน ต่ำ, สัดส่วนต่อพื้นที่สีเขียวต่ำ, รายได้เฉลี่ยสูง, การศึกษาขั้นต่ำปริญญาโท ฯลฯ) แต่ก็ยังเกิดปัญหาครอบครัวหย่าร้าง เด็กติดยาเสพติด ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน นักศึกษาขายตัว ปัญหาการทำแท้ง ปัญหาอาชญากรรม คอรัปชั่น การไร้ระเบียบวินัยจราจร ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น นั่นใช่แสดงว่ามาตรฐานสากล และดัชนีชี้วัด ยังศึกษาไม่ครบทุกด้านหรือไม่ ต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้คืออะไร การศึกษาไม่มีประสิทธิภาพหรือ?

“ทำไมคนจบถึงด๊อกเตอร์ ถึงไปถูกหลอกที่อเมริกา”

“ทำไมผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันมาตรฐานถึงทำงานที่ท้องถิ่นไม่ได้”

“ทำไมคนที่มีเงินล้นฟ้า ยังคอรัปชั่นหลีกเลี่ยงภาษี (ซุกหุ้น)

- การศึกษาเฉพาะด้านที่ทำให้คนรู้ลึก แต่ไม่รู้รอบ

- การศึกษาที่ไม่ตอบสนองกับความต้องการของท้องถิ่น

- การศึกษาที่ไม่ฝึกจริยธรรมและสำนึกผิดชอบชั่วดีให้ประชาชน

- การศึกษาที่ไม่ให้ความรู้ความเข้าใจในชีวิตและฝึกวินัยให้กับเด็กและเยาวชน

หากคำตอบคือ การศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ หากจำเป็นต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว ดัชนีชี้วัดและการประเมินผลจะให้คำตอบได้หรือไม่ ว่าต้องเพิ่มวิชาใด อย่างไร แค่ไหน ถึงจะแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ ได้

ประเด็นนี้ ขอปล่อยไว้เป็นคำถาม ให้คิดกันก่อนต่อไป

“ดัชนีชี้วัดให้พัฒนาเมือง แล้วจะใช้อะไรมาพัฒนาจิตใจ”



ประเด็นที่ 4 การมีส่วนร่วมของประชาชน

ปฏิเสธํไม่ได้ว่า ชาวบ้านในท้องถิ่นคือผู้ที่รู้จักพื้นที่ของตัวเองดีที่สุด (ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังที่กล่าวไว้ในประเด็นที่ 2) หากนักวิจัย หรือหน่วยงานราชการที่มีความรู้ในการประเมินศักยภาพ มีระบบการคิดวิเคราะห์ปัญหาพื้นที่ และมีอำนาจในการดำเนินงาน จะสามารถเปลี่ยนบทบาทจากผู้ชี้นำการพัฒนา เป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านพิจารณาเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของเขาเอง ก็จะได้แผนการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนที่สุด ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับมาตรฐานการพัฒนาของประเทศอื่น หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ “วิธีการ”

“ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชาวบ้าน ไม่ใช่หาอ่านได้จากหนังสือ”

นักวิจัย นักวิชาการ นักบริหารปกครอง ต้องทำความเข้าใจที่มาของภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตชาวบ้าน ว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่อย่างไรเสียก่อน จึงจะสามารถวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต่อไปได้ องค์ความรู้เหล่านี้มีความเฉพาะตัว ไม่สามารถหาอ่านจากหนังสือ หรือเปรียบเทียบผลการวิจัยจากท้องที่อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อเรื่องการปลูกเรือนของชาวกะเหรี่ยงห้ามปลูกบนเนินคุ้งน้ำ เพราะผีแรง คนในบ้านจะตาย ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วจะพบว่า กระแสน้ำบริเวณคุ้งน้ำจะนิ่ง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทำให้เป็นไข้ป่าตายได้ง่าย เป็นต้น

องค์ความรู้เหล่านี้ เป็นประสบการณ์สั่งสม ที่ชาวบ้านทดลองสังเกตเหตุและปัจจัยเป็นเวลานาน และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ความรู้ด้านสมุนไพร สภาพภูมิอากาศที่สัมพันธ์กับนิสัยสัตว์น้ำ ชาวประมงรู้ว่าจะวางลอบเมื่อไร จุดไหน ลอบควรมีตาถี่ห่างขนาดไหน เป็นต้น ซึ่งการจะได้มาซึ่งความรู้เหล่านี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากจะให้นักวิจัยไปสำรวจศึกษาทดลองสังเกตด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น 

องค์ความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่เปราะบาง เปลี่ยนแปลงสูญหายได้ง่าย ตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น วิถีชีวิตชาวนาที่ดอน เคยอาศัยฤดูน้ำหลาก ขนของป่า และผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นล่องแม่น้ำไปขายและแลกเปลี่ยนสินค้าและรับจ้างตามเมืองริมน้ำ จนหมดช่วงน้ำหลาก ก็พายเรือทวนน้ำที่ไม่เชี่ยวนักกลับบ้านเมืองตัว ไปเก็บเกี่ยวข้าวนาดอนที่ปลูกไว้ตั้งแต่ต้นฤดู สุกพอดี ปัจจัยเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตอาจเป็นปัจจัยธรรมชาติ เช่น ของป่าหมด พันธุ์ข้าวนาดอนแปลงพันธุ์ หรือการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำ ทำให้ไม่มีฤดูน้ำหลากน้ำทรงอีกต่อไป หรือประดิษฐกรรมเครื่องจักรทันสมัย ที่สร้างเรือกลทุ่นแรง สามารถเดินทางได้ทุกช่วงเวลาตามใจชอบ เป็นต้น

องค์ความรู้เหล่านี้ แฝงตัวอยู่ในหลายลักษณะ เช่น นิทานพื้นบ้าน ขนบประเพณี ความเชื่อ หรือเรื่องเล่าสู่กันฟัง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ได้แก่ การเชื่อกันว่ามดขนไข่แสดงว่าฝนกำลังจะตกหนัก มดขนไข่ขึ้นสูงแค่ไหน คือน้ำท่วมแค่นั้น เป็นต้น นักวิจัยต้องสามารถวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของเหตุและปัจจัยทางธรรมชาติและวิถีชีวิตให้ได้ก่อน พิสูจน์ให้เห็นจริง (เพราะบางที่เหตุทางธรรมชาติเปลี่ยนไปตามกาลเวลา) แล้วจึงค่อยประยุกต์ใช้ความรู้จากการสังเกตธรรมชาติของชาวบ้าน มาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาต่อไป

เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วว่า ข้อมูลทุกด้านเกี่ยวกับท้องถิ่นหนึ่ง ๆ เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นต่อการวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ ในอนาคต และแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดคือ ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมาเป็นเวลานานแล้วนั้น สิ่งที่เป็นประเด็นควรพิจารณาอย่างตั้งใจต่อไปคือ วิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ซึ่งมักถูกมองข้ามว่าสามารถใช้วิธีตามที่เคยใช้มาได้เหมือนกันทุกกรณี เช่น สัมภาษณ์ ทำแบบสอบถาม จัดประชุมระดมสมอง เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ง่ายเช่นนั้น นักวิจัย/ผู้สำรวจเก็บข้อมูล ต้องใช้หลักจิตวิทยา วิเคราะห์ได้ว่าสถานการณ์ไหน พื้นที่ไหน ใช้วิธีการแบบไหน เวลาเท่าไร บางกรณีที่แหล่งข้อมูลเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ หรือช่างฝีมือที่หวงวิชา ต้องเข้าใจว่าคนเหล่านี้จะไม่ค่อยพูดกับคนแปลกหน้า ดังนั้นผู้สำรวจต้องใจเย็น ให้เวลาทำความคุ้นเคยกับแหล่งข้อมูลสักระยะหนึ่งก่อน ซึ่งระยะเวลาที่กล่าวถึงนี้ก็แตกต่างกันไป ตามนิสัยของผู้คนในท้องถิ่นด้วย (มีบางครั้งที่ให้เวลาแล้วก็ไม่ได้รับความร่วมมือ จนผู้สำรวจต้องตัดหัวข้อนั้นทิ้ง ไปเลยก็มี)

“คนไทย ชอบจับเข่าคุยกัน ที่สภากาแฟ มากกว่า”

อีกประการหนึ่งที่เห็นว่าเป็นประเด็นที่ควรถกปัญหากัน คือ “การประชุมระดมมันสมอง” หรือการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นวิธีการที่หน่วยงานราชการมัก (อ้างว่า) ใช้เป็นเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางแผนหรือตรวจสอบแผน หรืออะไรก็แล้วแต่ ในแง่หนึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณ ทำให้หน่วยงานราชการต้องเลือกวิธีการที่สั้นกระชับที่สุด คือการจัดประชุม เชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน ระยะเวลาอย่างมากก็ 2-3 วัน ถ้าจำนวนผู้เข้าร่วมมากก็ต้องจัดที่โรงแรม ซึ่งอำนวยการความสะดวกมากกว่า แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากพิจารณาถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” มีนิสัยอย่างไร ยินดีที่จะยกมือแย่งไมโครโฟนกับวิทยากรในห้องประชุมหรูหราแบบนั้นหรือไม่ ผู้สำรวจเก็บข้อมูล/หน่วยงานราชการน่าจะทบทวนเรื่อง “วิธีการ” ในการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นอีกครั้งหนึ่งอยู่ดี 

*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น