วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


20 อันดับเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลก” (พิจารณาจากระยะเวลาในการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน) ซึ่งคัดมาจากหนังสือ “ไทม์เอาท์’ส  ไกด์ ทู เดอะ เวิลด์’ส เกรทเทส ซิตี้”
20. เมืองพาราณสี (Varanasi) ประเทศอินเดีย
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล
“เมืองพาราณสี” ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคงคา เดิมมีชื่อว่า “เบนาเรส” ถือเป็นเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งในศาสนาพุทธและฮินดู ตามตำนานเล่าว่าเมืองพาราณสีสร้างขึ้นโดยพระศิวะเมื่อเกือบ 5 พันปีก่อน แต่นักวิชาการสมัยใหม่เชื่อว่าพาราณสีน่าจะมีอายุกว่า 3 พันปีเท่านั้น
19. เมืองคาดิซ (Cadiz) ประเทศสเปน
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,100 ปีก่อนคริสตกาล
เมืองคาดิซตั้งอยู่บนแหลมที่ยื่นออกไปในอ่าวคาดิซ (มหาสมุทรแอตแลนติก) เป็นที่ตั้งของกองทัพเรือสเปนมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 ในยุคแรกๆ เมืองนี้เคยถูกพ่อค้าชาวฟีนิเชียใช้เป็นจุดซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมาได้ตกเป็นอาณานิคมของชาวคาร์เธจ (ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล) และได้กลายเป็นฐานในการแย่งชิงดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียของแม่ทัพฮานนิบาล ในเวลาต่อมาเมืองคาดิซได้ตกเป็นของชาวโรมัน และมัวร์ ตามลำดับ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ในยุคการสำรวจทางทะเล
* 3 อันดับต่อไปนี้ก่อตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน *
16. เมืองธีบส์ (Thebes) ประเทศกรีซ
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,400 ปีก่อนคริสตกาล
ซากป้อมปราการในยุคโบราณ
ในอดีตธีบส์ เคยเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวเอเธนส์โบราณ ทั้งยังเป็นเมืองใหญ่ที่สุด (และเป็นผู้นำ) แห่งแคว้นโบเธีย ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสปาร์ตากับเอเธนส์ (ในสมัยโบราณดินแดนต่างๆ ของกรีก มักจะทำสงครามสู้รบกันเองแม้จะอยู่ในดินแดนกรีกแต่ธีบส์กลับเลือกยืนอยู่ข้างชาวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นศัตรูที่มักบุกเข้ามาทำสงครามกับกรีกหลายครั้ง ถึงขนาดให้ความช่วยเหลือกษัตริย์เซอร์เซส ที่นำกองทัพเปอร์เซียบุกเข้าโจมตีกรีก เมื่อ 480 ปีก่อนคริสตกาล จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าชนเผ่าไมซีเนียนเป็นผู้บุกเบิกและเข้ามาก่อตั้งถิ่นฐานที่เมืองธีบส์เป็นกลุ่มแรกๆ  ปัจจุบัน อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่อย่างเมืองธีบส์กลับกลายเป็นเพียงมาร์เก็ตทาวน์เล็กๆ แต่เนื่องจากมีทัศนียภาพที่งดงามจึงมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมเยียนเสมอ
16. เมืองลาร์นาคา (Larnaca) ประเทศไซปรัส
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,400 ปีก่อนคริสตกาล
เมืองลาร์นาคา ก่อตั้งโดยชาวฟีนิเชีย ในอดีตมีชื่อว่า “Citium” ปัจจุบัน เป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นเมืองรีสอร์ทริมทะเลที่ขึ้นชื่อ โดยมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นแนวต้นปาล์มที่สวยงามริมชายหาด ซึ่งมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน
16.  เมืองเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,400 ปีก่อนคริสตกาล
เอเธนส์ เป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมตะวันตกและเป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นที่ตั้งของวิหารพาร์เธนอนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2530 รวมทั้งโบราณสถานเก่าแก่สมัยกรีก โรมัน ไบแซนไทน์ และออตโตมัน ปัจจุบัน ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของโลก และมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากเดินทางไปเยือนในแต่ละปี
15. เมืองบัลข์ (Balkh) ประเทศอัฟกานิสถาน
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล
กำแพงแห่งบัลข์
บัลข์ หรือที่รู้จักกันในยุคกรีกโบราณภายใต้ชื่อ “แบคตรา” (เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร  “แบคเตรีย” หรือดินแดนโบราณยุคประวัติศาสตร์ในเอเชียกลาง) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน ครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามจากชาวอาหรับว่าเป็น ‘Mother of Cities’  มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัย  2,500-1,900 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่อาณาจักรเปอร์เซียและมีเดียจะเรืองอำนาจ ปัจจุบัน ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตฝ้ายประจำภูมิภาค
14. เมืองกีร์กูก  (Kirkuk) ประเทศอิรัก
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,200 ปีก่อนคริสตกาล
กีร์กูก อยู่ห่างไปทางตอนเหนือของกรุงแบกแดดราว 150 ไมล์ (241 ก.ม.) ตั้งอยู่บนพื้นที่ๆ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิแอสซีเรีย (ส่วนหนึ่งของเมโสโปเตเมีย) ที่มีชื่อว่า “Arrapha” แม้ว่าปัจจุบัน  กีร์กูก จะกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของอิรัก แต่กำแพงและซากปรักหักพังของป้อมปราการเก่าแก่อายุเกือบ 5 พันปียังคงปรากฏให้เห็นตราบจนกระทั่งทุกวันนี้
13. เมืองอาร์บิล (Arbil) ประเทศอิรัก
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,300 ปีก่อนคริสตกาล
เมืองอาร์บิล ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองกีร์กูก  ในอดีตเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิแอสซีเรีย เปอร์เซีย ซาสซาเนีย  อาหรับ และออตโตมัน   ทั้งยังเคยเป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางสายไหมในสมัยโบราณ  ปัจจุบัน ป้อมปราการและกำแพงเมืองเก่าแก่ที่อยู่สูงจากระดับพื้นดิน 26 เมตรของเมืองอาร์บิล ยังคงปรากฏให้เห็นและถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง
12. เมืองไทร์ (Tyre) ประเทศเลบานอน
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,750  ปีก่อนคริสตกาล
เมืองไทร์ เป็นต้นกำเนิดของตำนาน “เทพียูโรปา” และ “เจ้าหญิงดิโด้ (Dido) หรือ Elissa” นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่มีชื่อว่า เฮโรโดตัส (Herodotus) ซึ่งได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งประวัติศาสตร์” เป็นผู้บันทึกเอาไว้ว่าเมืองไทร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 2,750  ปีก่อนคริสตกาล ในอดีตเมืองนี้เคยถูกอเล็กซานเดอร์มหาราช (กรีก) บุกเข้ายึดครอง ต่อมาได้รับเอกราชและกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมัน ปัจจุบัน เมืองไทร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีโบราณสถานและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรมัน ฮิปโปโดรม” ที่ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522 )
11. เมืองเยรูซาเลม (Jerusalem) ประเทศอิสราเอล
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,800  ปีก่อนคริสตกาล
เยรูซาเล็ม เป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของชาวยิว และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับที่ 3 ในศาสนาอิสลาม ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนาหลายแห่ง อาทิ โดมทองแห่งเยรูซาเล็ม (ในภาพ) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างของอิสลามที่เก่าที่สุดในโลก, กำแพงตะวันตก หรือกำแพงร้องไห้,  โบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์ และสุเหร่า อัล-อักซา เป็นต้น ในอดีตเยรูซาเล็มเคยถูกข้าศึกล้อม 23 ครั้ง ถูกโจมตี 52 ครั้ง ถูกยึด 44 ครั้ง และถูกทำลาย 2 ครั้ง
10. เมืองเบรุต (Beirut) ประเทศเลบานอน
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 3,000  ปีก่อนคริสตกาล
เบรุต เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 5 พันปี ปัจจุบันเป็นทั้งเมืองหลวง ศูนย์กลางการบริหาร วัฒนธรรม  และเศรษฐกิจ ของประเทศเลบานอน จากการขุดค้นทางโบราณคดีปรากฏหลักฐานของชาวฟินิเชีย อารยธรรมเฮลเลนิสติก โรมัน อาหรับ และออตโตมัน (ทั้งยังถูกกล่าวถึงเป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายที่ส่งถึงกษัตริย์ฟาโรห์แห่งอียิปต์ ในสมัยศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสตกาลอีกด้วย) หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง เบรุต ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา จึงได้รับการจัดอันดับจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทม์ ว่าเป็นสุดยอดสถานที่ที่ควรไปเยือนในปี 2009 และได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 เมืองที่มีชีวิตชีวามากที่สุดในโลก ประจำปี 2009 โดยโลนลี่ แพลนเน็ตอีกด้วย
9. เมืองกาเซียนเต็ป (Gaziantep) ประเทศตุรกี
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 3,650  ปีก่อนคริสตกาล
เมืองกาเซียนเต็ป ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ใกล้พรมแดนประเทศซีเรีย มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับตั้งแต่ยุคของชาวฮิทไทท์ซึ่งเป็นชนโบราณ บริเวณใจกลางเมืองเป็นที่ตั้งของป้อมปราการราวันด้า ที่ถูกบูรณะซ่อมแซมโดยอาณาจักรไบแซนไทน์ในสมัยศตวรรษที่ 6  และเป็นที่ซึ่งมีการค้นพบศิลปะแบบโมซาอิของชาวโรมัน
* 3 อันดับต่อไปนี้ก่อตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน *
6. เมืองพลอฟดิฟ (Plovdiv) ประเทศบัลแกเรีย
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,000  ปีก่อนคริสตกาล
พลอฟดิฟ เป็นเมือง (จังหวัด) ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศบัลแกเรีย ก่อตั้งโดยชาวเทรเชียนโบราณ ต่อมาได้กลายเป็นเมืองสำคัญของชาวโรมัน หลังจากนั้นจึงตกอยู่ภายใต้การครอบครองอาณาจักรไบแซนไทน์ และออตโตมัน ก่อนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศบัลแกเรีย เมืองนี้เป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมที่สำคัญ ทั้งยังมีโบราณสถานและอารยธรรมโบราณหลายแห่งหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน อาทิ อัฒจันทร์และรางน้ำสมัยโรมัน ตลอดจนโรงอาบน้ำของจักรวรรดิออตโตมัน เป็นต้น
6. เมืองไซดอน (Sidon) ประเทศเลบานอน
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,000  ปีก่อนคริสตกาล
เมืองไซดอน อยู่ห่างไปทางตอนใต้ของเมืองเบรุตราว 25 ไมล์ (40 ก.ม.) ถือเป็นเมืองสำคัญที่สุด และ (อาจ) เก่าแก่ที่สุดของชาวฟินิเชีย ทั้งยังเป็นรากฐานด้านการค้าอันยิ่งใหญ่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของชาวฟินิเชียอีกด้วย กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งพระเยซูและเซนต์ปอล เคยเดินทางไปเยือนเมืองไซดอน รวมทั้งอเล็กซานเดอร์มหาราชที่บุกยึดเมืองกล่าวเมื่อ 333 ปีก่อนคริสตกาลด้วย
6. เมืองฟายุม (Faiyum) ประเทศอียิปต์
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,000  ปีก่อนคริสตกาล
ฟายุม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไคโร บนพื้นที่ๆ เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมือง “Crocodilopolis” หรือ “อาร์สินี” ในสมัยอียิปต์โบราณซึ่งเคารพบูชาจระเข้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อว่า “Petsuchos “  ปัจจุบัน เมืองฟายุม มีห้างร้านขนาดใหญ่ มัสยิด และโรงอาบน้ำหลายแห่ง ทั้งยังมีปิรามิด  Lehin และ Hawara ตั้งอยู่บริเวณด้านนอกของตัวเมืองอีกด้วย
5. ซูซา (Susa) ประเทศอิหร่าน
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,200  ปีก่อนคริสตกาล
ในอดีต “ซูซา” เคยเป็นเมืองหลวงของเอลามหรือจักรวรรดิเอลาไมท์ ก่อนที่จะถูกจักรวรรดิอัสซีเรียเข้ายึดครอง ต่อมาเมืองซูซาได้ถูกจักรวรรดิเปอร์เชียอคีเมนียะห์  ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิไซรัสมหาราชเข้ารุกราน และได้กลายเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิดังกล่าวในเวลาต่อมา… เมืองซูซายังเป็นต้นกำเนิดของละครเรื่อง “เดอะ เปอร์เซียน” ซึ่งแต่งโดยนักประพันธ์ชาวกรีกที่มีชื่อว่า “เอสชิลุส” (บิดาแห่งโศกนาฎกรรมกรีก) และได้ชื่อว่าเป็นละครเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงถูกนำมาแสดงอยู่ตราบจนปัจจุบัน ทุกวันนี้เมืองซูซาโบราณได้กลายเป็นเมืองยุคใหม่ภายใต้ชื่อ “ชูสห์”  ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดคูเซสถานและมีประชากรอาศัยอยู่ไม่ถึง 1 แสนคน
* 2  อันดับต่อไปนี้ก่อตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน *
3. เมืองดามัสกัส (Damascus) ประเทศซีเรีย
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,300  ปีก่อนคริสตกาล
บางตำราระบุว่า “ดามัสกัส” เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลก โดยระบุว่าอาจมีการตั้งถิ่นฐานของประชากรมาตั้งแต่สมัย 10,000 ปีก่อนคริสตกาล (ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม การตั้งรกรากถาวรที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดเริ่มต้นขึ้นหลังจากชาวอาราเมียนอพยพเข้ามา พร้อมทั้งริเริ่มระบบชลประทาน (คู คลอง) ซึ่งยังคงถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการก่อสร้างระบบชลประทานในปัจจุบัน… ดามัสกัส ถูกรุกรานจากชาติตะวันตกเป็นครั้งแรกโดยอเล็กซานเดอร์มหาราช หลังจากนั้นได้ตกอยู่ในครอบครองของจักรวรรดิโรมัน ชาวอาหรับ และจักรวรรดิออตโตมันตามลำดับ ปัจจุบัน ดามัสกัส เป็นเมืองหลวงของซีเรียและเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองเก่าซึ่งมีโบราณสถานและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้เยี่ยมชมและศึกษามากมาย
3. เมืองอเล็ปโป้ ประเทศซีเรีย
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,300  ปีก่อนคริสตกาล
อเล็ปโป้ เดิมมีชื่อว่าฮาลับ เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศซีเรีย (ราว 4.4 ล้านคน) น่าเสียดายที่เมืองใหม่ในปัจจุบันถูกสร้างทับพื้นที่ๆ เป็นเมืองโบราณ ทำให้การสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีทำได้ยากมาก… ในสมัย 800 ปีก่อนคริสตกาลเมืองฮาลับเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวฮิทไทท์ ก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้น้ำมือของจักรวรรดิอัสซีเรีย กรีก และชาวเปอร์เซีย หลังจากนั้น เมืองฮาลับยังถูกยึดครองโดยชาวโรมัน ไบแซนไทน์  อาหรับ และเคยถูกล้อมกรอบ 2 ครั้งในช่วงสงครามครูเสด หลังจากนั้นจึงตกเป็นของชาวมองโกล และจักรวรรดิออตโตมัน ตามลำดับ
2. เมืองบิบลอส (Byblos) ประเทศเลบานอน
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 5,000  ปีก่อนคริสตกาล
เดิมทีเมืองนี้ถูกชาวฟินิเชียตั้งชื่อว่า “เกบัล” ภายหลังถูกตั้งชื่อใหม่เป็น “บิบลอส” โดยชาวกรีกที่นำเข้าต้นกกหรือปาปิรุสจากเมืองดังกล่าว… บิบลอส มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับตั้งแต่ยุคหินใหม่ (ซากโบราณสถานในยุคดังกล่าวยังคงปรากฏให้เห็นตราบจนปัจจุบัน) จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย  อาทิ วัดของชาวฟินีเชีย ปราสาทบิบลอส โบสถ์เซนต์จอห์น เดอะ แบพทิสต์ (สร้างในสมัยสงครามครูเสด) และกำแพงเมืองในยุคกลาง เป็นต้น
1. เมืองเยริโค (Jericho) ในเขตเวสต์แบงก์ ดินแดนปาเลสไตน์
เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 9,000  ปีก่อนคริสตกาล
เยริโค ตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ ใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมานักโบราณคดีได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีมากกว่า 20 แห่งที่บ่งบอกว่ามีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องในเมืองเยริโค โดยโบราณสถานเก่าแก่ที่สุดมีอายุมากถึง 11,000 ปี หรือเมื่อ 9,000  ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบัน เป็นบ้านของประชากรราว 20,000 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น