วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พายุ


พายุ คือ สภาพบรรยากาศที่ถูกรบกวนแบบใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อพื้นผิวโลก และบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เวลากล่าวถึงความรุนแรงของพายุ จะมีเนื้อหาสำคัญอยู่บางประการคือ ความเร็วที่ศูนย์กลาง ซึ่งอาจสูงถึง 400 กม./ชม. ความเร็วของการเคลื่อนตัว ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และขนาดความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวพายุ ซึ่งบอกถึงอาณาบริเวณที่จะได้รับความเสียหายว่าครอบคลุมเท่าใด ความรุนแรงของพายุจะมีหน่วยวัดความรุนแรงคล้ายหน่วยริกเตอร์ของการวัดความรุนแรงแผ่นดินไหว มักจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

ประเภทพายุ

  1. พายุฝนฟ้าคะนอง มีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน หากสภาพการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ของการเกิดฝนเหมาะสม ก็จะเกิดฝนตก มีลมพัด
  2. พายุหมุนเขตร้อนต่าง ๆ เช่น เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ซึ่งล้วนเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน และจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยมีชื่อต่างกันตามสถานที่เกิด กล่าวคือ
    1. พายุเฮอร์ริเคน (hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
    2. พายุไต้ฝุ่น (typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น
    3. พายุไซโคลน (cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียเหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy)
    4. พายุโซนร้อน (tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลง ขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง
    5. พายุดีเปรสชัน (depression) เกิดขึ้นเมื่อความเร็วลดลงจากพายุโซนร้อน ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก
  3. พายุทอร์นาโด (tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่น ๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบก และในทะเล หากเกิดในทะเล จะเรียกว่า นาคเล่นน้ำ (water spout) บางครั้งอาจเกิดจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า แต่หมุนตัวยื่นลงมาจากท้องฟ้าไม่ถึงพื้นดิน มีรูปร่างเหมือนงวงช้าง จึงเรียกกันว่า ลมงวง

ลมสลาตัน เป็นชื่อภาษาไทยใช้เรียกลมแรงหรือพายุช่วงปลายฤดูฝนที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้ยังใช้เรียกพายุทั่วไปที่มีความรุนแรงทุกชนิด รวมทั้งพายุต่างๆ ข้างต้นที่มีความรุนแรงข้างต้น1+1
อันตรายจากพายุ
  • พายุไต้ฝุ่น เมื่อพายุที่มีกำลังขนาดไต้ฝุ่น คือ กำลังความเร็วของลมตั้งแต่ 65 น๊อต หรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปพัดผ่านที่ใดทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงดังนี้
    • บนบก ทำให้ ต้นไม้ล้ม เกิดอันตรายจากต้นไม้ล้มทับบ้านเรือน บ้านเรือนพังทับผู้คนในบ้านและใกล้เคียงบาดเจ็บหรือตายสวนไร่นาเสียหาย เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าช็อต เกิดเพลิงไหม้และผู้คนอาจเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดได้ ผู้คนที่มีอาคารพักอาศัยอยู่ริมทะเลอาจถูกน้ำพัดพาลงทะเลจมน้ำตายได้ ดังเช่น ปรากฏการณ์ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝนตกหนักมากทั้งคืนทั้งวัน เมื่อน้ำจากป่าและภูเขาหลากลงมาอย่างมากมาย ท่วมบ้านช่อง ถนนหนทาง และเรือกสวนไร่นาล่มจมอยู่ใต้น้ำ เส้นทางคมนาคม ทางรถไฟ สะพาน ถนนทางขาด
    • ทะเล ในทะเลลมแรงจัดมาก คลื่นใหญ่ เรือขนาดใหญ่ ๆ อาจจะถูกพัดพาไปเกยฝั่งล่มจมได้ บรรดาเรือเล็กเป็นอันตรายไม่สามารถจะต้านความรุนแรงของพายุได้ คลื่นใหญ่ซัดขึ้นริมฝั่งจนทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงมากจนท่วมอาคารบ้านช่องริมทะเลได้ บรรดาโป๊ะจับปลาในทะเลถูกทำลาย
  • พายุโซนร้อน พายุโซนร้อนมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่น ความเร็วของลมบริเวณใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 34 น็อต หรือ 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่เกิน 63 น็อต หรือ 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทะเลลมจะแรงมากจนสามารถจมเรือขนาดใหญ่ ๆ ได้ ต้นไม้ล้ม ถ้าไม่มีกาารเตรียมรับมือที่ดีก็จะเกิดความเสียหายได้
  • พายุดีเปรสชั่น พายุดีเปรสชั่นเป็นพายุที่มีกำลังอ่อน ความเร็วของลมใกล้บริเวณศูนย์กลางไม่เกิน 33 น็อต หรือ 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่ทำให้มีฝนตกทั่วไปตลอดทางที่พายุดีเปรสชั่นผ่านไป และมีฝนตกหนักเป็นแห่ง ๆ พร้อมด้วยลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว ซึ่งบางคราวจะรุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายได้บ้าง ในทะเลค่อนข้างแรงและคลื่นจัด บรรดาเรือประมงเล็กขนาดต่ำกว่า 50 ตัน ควรงดเว้นออกทะเลเพราะอาจจะล่มลงได้ และพายุดีเปรสชั่นนี้เมื่ออยู่ในทะเลได้รับไอน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา และไม่มีสิ่งกีดขวางทางลมอาจจะทวีกำลังขึ้นได้โดยฉับพลัน สำหรับพายุพัดจัดจะลดน้อยลงเป็นลำดับ มีแต่ฝนตกทั่วไปเป็นระยะนาน ๆ และตกได้มากถึง 100 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมงซึ่งต่อไปก็จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าจากภูเขาและป่าใกล้เคียงลงมาท่วมบ้านเรือนได้ในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากพายุได้ผ่านไปแล้ว
  • พายุฤดูร้อน พายุฤดูร้อนเป็นพายุที่ต่างกับพายุดีเปรสชั่น และเกิดบนผืนแผ่นดินที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนแต่เป็นพายุที่มีบริเวณย่อม ๆ มีอาณาเขตเพียง 20-30 ตารางกิโลเมตร แต่อาจมีลมแรงมากถึง 47 น็อต หรือ 87 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังพายุที่เกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 และพายุที่เกิดขึ้นที่อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2497 พายุนี้มีกำลังแรงที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้มากเหมือนกันแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง อันตรายที่เกิดขึ้นคือ ต้นไม้หักล้มทับบ้านเรือนผู้คน บ้านเรือนพังทะลาย ฝนตกหนักและอาจมีลูกเห็บตก

[แก้]การเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุ

  1. ติดตามสภาวะอากาศ ฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาสม่ำเสมอ
  2. สอบถาม แจ้งสภาวะอากาศร้ายแก่กรมอุตุนิยมวิทยา
  3. ซ่อมแซม อาคารให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร
  4. ฝึกซ้อมการป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนอพยพหากจำเป็น
  5. เตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย แบตเตอรี่ วิทยุกระเป๋าหิ้วติดตามข่าวสาร
  6. เตรียมพร้อมอพยพเมื่อได้รับแจ้งให้อพยพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น