วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พลังงานแสงอาทิตย์


พลังงานแสงอาทิตย์ ทางเลือกของพลังงานไทย



เรื่อง / ภาพ : กรวิกา วีระพันธ์เทพา
การผลิตไฟฟ้าในประเทศที่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 72 กับปริมาณการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้คำถามว่า “ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องสนใจพลังงานหมุนเวียนหรือยัง?” มาถึงเร็วขึ้น
กลางพื้นที่ที่แสงแดดจัดใน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร แผงโซลาร์เซลล์จำนวน 29,160 แผง เรียงรายอยู่กลางพื้นที่ 133 ไร่ มีกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554
โซลาร์ฟาร์มแห่งนี้ เป็นหนึ่งในแผนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ บริษัทโซล่า เพาเวอร์ จำกัด ตั้งเป้าไว้ว่าจะลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 34 โครงการ ภายในปี 2556 ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จไป 6 โครงการที่นครราชสีมา เลย และนครพนม
วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า การก่อสร้างแต่ละโครงการ ต้องใช้งบประมาณ 600-700 ล้านบาท รวมทั้งหมด 24,000 ล้านบาท และคาดว่าจะคืนทุนภายใน 7-8 ปี ก่อนที่บริษัทจะลงทุน ได้ประเมินแล้วว่าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตทางธุรกิจ เนื่องจากพื้นที่ภาคอีสานบ้านเรามีความเข้มของแสงที่ดี มีประสิทธิภาพต่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นที่ราบสูง ความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยต่ำ
"ธุรกิจโซลาร์ฟาร์มจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตในอนาคต เพราะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมด และเป็นพลังงานสะอาด เกิดมลพิษน้อยมาก อาศัยการลงทุนเพียงครั้งเดียวก็สามารถผลิตพลังงานต่อไปได้อีกหลายสิบปี การที่มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน บริษัท ไทยฟ้า เพาเวอร์ จำกัด และบริษัทการเงินระหว่างประเทศ ไอ เอฟ ซี เข้ามาร่วมถือหุ้นกับเรา เป็นตัวบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าเราได้รับความไว้วางใจว่าจะสามารถทำให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเติบโตได้”
วันดี ระบุว่า ปัจจุบันมีธุรกิจหลายแห่งที่แจ้งความจำนงขอทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสนใจพลังงานชนิดนี้โดยการให้ออกมาตรการที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากขึ้น สนับสนุนเงินลงทุน ให้การสนับสนุนความรู้และเครือข่ายด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงของพลังงานในประเทศ
"เมื่อเราสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ย่อมหมายถึงความมั่นคงของเราเอง เราวางตำแหน่งของบริษัทไว้ที่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นรายแรกในประเทศ และมีแผนขยายผลไปยังประเทศในแถบอาเซียน ในฐานะผู้ออกแบบก่อสร้างที่ใช้เทคโนโลยีและงบประมาณอย่างเหมาะสมด้วย"
อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์ยังมีข้อจำกัดที่ต้องใช้ที่ดินมากเพื่อรับแสงอาทิตย์ให้มากที่สุด ดังนั้น ยังมีความกังวลจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ห่วงเรื่องการใช้และจัดการที่ดินอย่างเหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นนั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงด้วย เพื่อให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นมิตรอย่างแท้จริง
+++ ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์ฟาร์ม +++

แผงเซลล์แสงอาทิตย์จะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง ส่งไปยังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า เป็นกระแสไฟฟ้าสลับ (ที่ใช้ในที่พักอาศัย) จากนั้นส่งไปยังตู้จ่ายกระแสไฟฟ้าหลัก หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มแรงดันไฟฟ้าเป็น 22,000 โวลต์ แล้วส่งเข้าสู่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น