วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

น้ำท่วมสุโขทัย


'ปู'สะอื้นมอบเงินเหยื่อน้ำท่วมสุโขทัย

"ยิ่งลักษณ์" น้ำตาคลอมอบเงินเหยื่อน้ำท่วมสุโขทัย สั่งผู้ว่าฯให้มาเยี่ยมบ่อยๆ กทม.เปิดเวทีประชุมวิกฤติภัยพิบัติเมืองใหญ่ "สุเมธ" เผย "ในหลวง" มีพระราชดำรัสบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นถึงปลาย พร้อมเปิดเว็บเฝ้าระวัง

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 16.30 น.13 มิ.ย. 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  และคณะได้เดินทางไปที่ ต.ยางซ้าย อ.เมือง จ.สุโขทัย เพื่อติดตามสถาณการณ์อุทกภัยในพื้นที่ซึ่งความเสียหายในพื้นที่ต.ยางซ้าย และต.ปากพระ  รวม 1,381 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายวัย 61 ปี โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยพร้อมมอบเงินกับญาติผู้เสียชีวิตเพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา 25,000 บาท ภายหลังการมอบเงินนายกฯได้พูดคุยกับญาติที่เป็นหญิงชราและน.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงกับน้ำตาคลอพร้อมหันไปบอกผู้ว่าสุโขทัยว่าให้มาเยี่ยมป้าบ่อยๆ

               ทั้งนี้เมื่อเวลา 13.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะ ได้เดินทางไปยังพื้นที่อำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามความคืบหน้าของ "บางระกำโมเดล" โดยเริ่มที่โครงการแก้มลิงบึงข้ีแร้ง ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามความพร้อมการแก้ปัญหาน้ำท่วมโครงการบึงขี้แร้ง โครงการขุดคลองเมม-คลองบางแก้ว และ ประตูระบายน้ำบางแก้ว โดยมีนายชัย โรจน์ มีแดง ผวจ.พิษณุโลก และนายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผอ.ชลประทานจังหวัด พิษณุโลก บรรยายสรุป
    
ตรวจบางระกำโมเดลจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกบึ้ง
               ทั้งนี้โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมจ.พิษณุโลกมี 12 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 806 ล้านบาท สำหรับบึงขี้แร้งใช้งบประมาณก่อสร้าง 47.21 ล้านบาท มีพื้นที่ 260 ไร่ แต่มีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ทำให้สามารถขุดบึงได้เพียง 167 ไร่ เก็บน้ำได้ 1.73 ล้านลบ.ม. ขณะนี้ดำเนินการ ขุดได้ 15% กำหนดแล้วเสร็จในเดือนต.ค.55 หรือภายในงบปี 2555 แต่คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เสร็จในเดือนส.ค.นี้
               น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อยากจะขอให้เร่งดำเนินการโครงการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนส.ค. ส่วนปัญหาการบุกรุกพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติของประชาชนในพื้นที่จ.พิษณุโลก ขอให้กระทรวงมหาดไทยกับผวจ.พิษณุโลก ไปสำรวจพื้นที่อีกครั้ง โดยเฉพาะบึงขี้แร้งเพื่อจะได้ของบฯดำเนินการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสถานที่พักผ่อนให้กับประชาชนในระยะยาวเป็นเฟสที่ 2 ในพื้นที่ที่เหลือได้

"สุเมธ"เผย"ในหลวง"มีพระราชดำรัสบริหารจัดการน้ำ
               นอกจากนี้เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ เขตราชเทวี พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมองค์กรเครือข่ายเมืองใหญ่ของเอเชีย 21 The Asian Network of Major Cities 21 หรือ ANMC 21 ซึ่ง กทม.ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโครงการร่วม Network for Crisis Management ระหว่างวันที่ 12 - 15 มิ.ย. ภายใต้หัวข้อเกี่ยวกับประสบการณ์ในการจัดการภาวะวิกฤตของเมืองใหญ่ “The Experience of Crisis Management in Major Cities” อาทิ แผ่นดินไหว โคลนถล่ม น้ำท่วม และสึนามิ เป็นต้น โดยในปีนี้มีเมืองสมาชิกเข้าร่วมการประชุมจำนวน 8 เมือง จาก 11 เมืองสมาชิก ได้แก่ กรุงเดลี ไทเป กรุงกัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ กรุงมะนิลา กรุงโซล กรุงโตเกียว กทม. และอูลานบาตอร์ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการจัดการภัยพิบัติในเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างกทม. และเมืองสมาชิก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมฟังการประชุมด้วย อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จ.นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง
               นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พระอัจฉริยภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ว่า ปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสไว้ว่าการบริหารจัดการน้ำจะต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งในพื้นที่ต้นน้ำจะต้องดูแลรักษาป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้ำจะอยู่ในป่าประมาณ 15 - 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้จะต้องมีการทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำส่วนที่เกินมาใช้ในฤดูแล้งได้ รวมถึงการทำฝายชะลอน้ำซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้น้ำไหลช้าลง และเมื่อน้ำอยู่ในป่าหรือดินที่แห้งแล้งก็สามารถทำให้ดินชุ่มชื้นขึ้น เมล็ดพันธุ์ที่อยู่ใต้ดินก็จะสามารถกลับฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ 
               นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ส่วนการบริหารจัดการน้ำในช่วงกลางน้ำจะต้องทำในผืนป่าเศรษฐกิจ เช่น สวนผลไม้ สวนผักต่างๆ เพราะพื้นที่ป่าเศรษฐกิจจะทำหน้าที่เหมือนป่าเช่นเดียวกัน โดยคนก็ต้องคำนวณการใช้น้ำอย่างเหมาะสม รวมถึงการสร้างเขื่อนซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำ แต่ต้องดูถึงความเหมาะสม ความคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ขณะที่พื้นที่ปลายน้ำ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่พบว่าจะมีขยะและน้ำเสียเป็นจำนวนมาก จะต้องมีการบำบัดน้ำเสีย การใช้กังหันชัยพัฒนา รวมถึงการปลูกป่าโกงกาง ซึ่งต้องมีการบริหารการจัดการให้เป็นระบบโดยพึ่งพาธรรมชาติและใช้สติปัญญาของคนในการบริหารจัดการให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ระหว่างคนและธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างต่างๆก็ควรสร้างให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วย
               “ปัญหาใหญ่อยู่บนภูเขา ถ้ายังมีการตัดไม้ทำลายป่า ยังไงก็แก้ไม่หมด ซึ่งเราไม่สามารถเป็นเจ้านายธรรมชาติได้  โดยเรามีหลักในการสู้กับธรรมชาติคือการป้องกัน หรือ การหนี เหมือนบางเมืองในต่างประเทศที่มีการย้ายเมืองหลวงเลย แต่ในหลวงทรงพยายามแนะให้เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้โดยสิ่งปลูกสร้างจะต้องสร้างให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น การสร้างบ้านสูงๆ  เป็นต้น”ดร.สุเมธ กล่าว
               ขณะเดียวกัน กทม.ได้เปิดเว็บไซต์ศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังปัญหาอุทกภัย กทม. ภายใต้ชื่อ BKKFLOODWATCHhttp://www.bangkokgis.com/bkkfloodwatch/

ผู้แทนพระองค์มอบถุงพระราชทานน้ำท่วมพังงา

               เมื่อเวลา 14.00 น.ที่อาคารเอนกประสงค์โรงเรียนเสนารังสรรค์ ในเขตเทศบาลเมืองตะกั่วป่า จ.พังงา มรว.สมลาภ กิตติยากร เลขานุการในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เป็นผู้แทนพระองค์เดินทางมามอบถุงพระราชทานให้กับราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองตะกั่วป่า จำนวน 160 ชุด และถวายถุงยังชีพให้กับพระภิกษุสงฆ์ที่ประสบอุทกภัยภัย จำนวน 60 รูป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น