วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โครงการเขื่อนแม่วงก์



ภาพจาก thailandoffroad.com
เรื่อง เสมอชน ธนพัธ
ส่อเค้าตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมาแล้วว่า รัฐบาลจะนำโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มาปัดฝุ่นพร้อมกับออกแรงผลักอย่างสุดกำลัง ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วม หนึ่งในนั้นคือเขื่อนแม่วงก์ กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จำนวน 13,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาการก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 –2562
ท่ามกลางความหวาดกลัวปัญหาน้ำท่วมของสังคมไทย ก็มีคำถามสวนขึ้นมาว่า เขื่อนแม่วงก์ป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือ และหลายคนที่เคยติดตามเรื่องราวของเขื่อนแม่วงก์กันมาบ้าง ก็อาจสงสัยต่อว่า เดิมทีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของเขื่อนแม่วงก์ไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมิใช่หรือ แล้วจู่ๆ ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณฝ่าไฟแดงให้ก่อสร้างได้อย่างไร
โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยกรมชลประทานมาตั้งแต่ปี 2525 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรและการป้องกันอุทกภัยที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
จากรายงานอีไอเอที่นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อปี 2537 กรมชลประทานได้พิจารณาเลือกก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่วงบริเวณเขาสบกก ตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขื่อนดังกล่าวมีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ ความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 13,000 ไร่ ปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ ในอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่บางส่วนในอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานีงบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในขณะนั้นคือ 4,043 ล้านบาท
แม้การจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อต้นปี 2543 ชาวบ้านจำนวนมากและนักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน โดยที่ชาวบ้านบางส่วนเชื่อเช่นนั้นจริงว่าเขื่อนแม่วงก์จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็มีมติไม่เห็นชอบรายงานอีไอเอของกรมชลประทาน เนื่องจากเห็นว่าการศึกษาไม่รอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อผืนป่าหลายหมื่นไร่
ประเด็นที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่รอบด้านของการประเมินผลกระทบ อาทิ ในรายงานอีไอเอระบุผลกระทบต่อผืนป่าแค่ว่าพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไป 13,000 ไร่นั้น คิดเป็นพื้นที่เพียงร้อยละ 2.2 ของพื้นที่อุทยานฯ แต่ไม่ได้บอกความจริงต่อไปว่า พื้นที่ที่ต้องสูญเสียนั้นเป็นสังคมป่าที่ลุ่ม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับร่างกายของคนเรา ก็เปรียบได้ดั่งหัวใจ ไม่ใช่แขนหรือขา ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นของพรรณไม้สูงมาก และเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มและใกล้แม่น้ำ ซึ่งการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะเป็นตัวกีดขวางทางเดินของสัตว์ป่า รวมถึงทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย เนื่องจากป่าถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน
ทั้งนี้ ป่าแม่วงก์เป็นป่าที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ และเป็นป่าต่อเนื่องผืนเดียวกับป่าตะวันตก สภาพพื้นที่ป่ามีหลายประเภท ทั้งป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 549 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าสงวน เช่น สมเสร็จ เลียงผา และสัตว์ป่าหายากหรือใกล้สูญพันธ์อีกหลายชนิด เช่น กระทิง วัวแดง หมาจิ้งจอก ค่างแว่นถิ่นเหนือ เสือโคร่ง เสือดำหรือเสือดาว เป็นต้น
ส่วนประเด็นเรื่องการป้องกันน้ำท่วม ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ฝนที่ตกเป็นการกระจายตัวอยู่ทั่วไปในพื้นที่ลุ่ม ดังนั้นการสร้างเขื่อนในบริเวณต้นน้ำจึงไม่สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้จริง เนื่องจากการสร้างเขื่อนที่บริเวณเขาสบกกเป็นการกั้นลำน้ำแม่วงเพียงสายเดียว แต่ลำน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำแม่วงไม่ได้มีเพียงสายเดียว ยังมีลำน้ำอีกหลายสายที่ไหลมาบรรจบกับน้ำแม่วง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของน้ำท่วมในตัวเมืองอำเภอลาดยาว โดยประเด็นนี้เองก็สอดคล้องกับในรายงานอีไอเอ ฉบับปี 2540 ที่ระบุว่า การสร้างเขื่อนบริเวณเขาสบกกสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ร้อยละ 25 เท่านั้น นั่นหมายถึงลำพังการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ก็ยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่นัก จึงมิพักต้องพูดถึงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่อยู่ตอนล่าง
ขณะที่การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นั้น มีผู้เสนอทางเลือกไว้หลากหลาย เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องสูญเสียผืนป่าที่เป็นแหล่งซับน้ำตามธรรมชาติ เช่น การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กและแก้มลิงกระจายให้ทั่วพื้นที่ การยกระดับถนนที่กีดขวางทางน้ำบางช่วงเพื่อเปิดทางให้น้ำสามารถไหลระบายได้ หรือแม้กระทั่งการตัดเส้นทางน้ำเข้าเขื่อนทับเสลาในจังหวัดอุทัยธานี
แม้ภายหลังการตีกลับรายงานอีไอเอของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทำให้ความเคลื่อนไหวในการผลักดันโครงการชะลอไปพักใหญ่ แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 โครงการเขื่อนแม่วงก์ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2555 แต่แล้วเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี 2554 ครม. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็คลอดมติให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมกับอนุมัติงบประมาณ 13,000 ล้านบาท ทั้งที่รายงานอีไอเอฉบับเดิมก็ไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ส่วนรายงานฉบับใหม่ก็ยังทำไม่เสร็จ ...ฉะนั้นจะให้ตีความได้ว่าอย่างไร นอกจากอย่างไรเสียก็เดินหน้าสร้างเขื่อนแม่วงก์แน่ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ??
หรือนี่เป็นเรื่องการดำเนินการลักไก่ ลวงและอำพรางข้อมูลกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น