วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

เกาะตะปู

เกาะตะปูหรือเขาตะปู ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลด้านนอก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีลักษณะเป็นเกาะเดี่ยว รูปร่างคล้ายตะปู มีศัพท์เฉพาะทางธรณีวิทยาว่า เกาะหินโด่ง (Stack)

เกาะตะปู เป็นเขาหินปูน ยุคเพอร์เมียน (295-250 ล้านปี) และสึกกร่อนจากการละลายน้ำได้ง่าย

กำเนิดของเกาะตะปูมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในอดีต เดิมเกาะตะปูเคยอยู่ติดกับเกาะอื่นๆ เป็นผืนเดียวกัน แต่การเคล

ื่อนไหวของเปลือกโลกในเวลาต่อมา ทำให้มีรอยเลื่อนใหญ่พาดผ่านที่ เรียกว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย การขยับตัวของรอยเลื่อนได้ทำให้เกิดการหักพังของหิน จนกระทั่งเขาตะปูแยกออกมาเป็นเขาลูกโดด

เขาตะปูได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลที่แผ่ขยายเข้ามาท่วมในช่วงหลังสุดเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาตะปูกลายเป็นเกาะ และถูกคลื่นกัดเซาะและขัดเกลา จนกระทั่งมีรูปทรงเรียวและขาดออกจากตัวเขาพิงกันตะวันออก เป็นเกาะหินโด่ง ในปัจจุบัน

น้ำทะเลที่ขึ้นสูงสุดเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่ผ่านมา มีระดับสูงกว่าระดับปัจจุบันประมาณ 4 เมตร การขึ้นลงของน้ำทะเล ได้กัดเซาะฐานเกาะตะปูให้เกิดเป็นแนวรอยน้ำเซาะหิน เว้าเข้าไปที่ระดับดังกล่าว ต่อมาน้ำทะเลลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 2.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลใหม่ได้กัดเซาะส่วนล่างของเกาะตะปูให้เกิดเป็นรอยน้ำเซาะหินแนวใหม่ คือ ระดับที่เป็นส่วนคอดกิ่วที่สุด และเป็นบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตเช่น หอย เพรียง เกาะอาศัยอยู่โดยรอบเมื่อได้นำซากหอยนางรมที่ติดอยู่ในแนวรอยกัดเซาะนี้ไปหาอายุโดยวิธีคาร์บอนรังสี (C14) ได้อายุประมาณ 2,620 ปี แสดงว่ารอยคอดกิ่วนี้เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลเมื่อเวลาประมาณ 2,500 ปีที่ผ่านมา

หลังจากนั้นน้ำทะเลจึงลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับปัจจุบัน เผยให้เห็นส่วนเว้าของเกาะตะปู มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ

เกาะตะปูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง จนมีภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาถ่ายทำ ที่เกาะตะปูนี้ ในปี พ.ศ. 2517 ภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ ตอนเพชฌฆาตปืนทอง (The Man with the Golden Gun) และเกาะตะปู ยังได้รับการขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า "James Bond Island" อีกด้วย

ตำแหน่ง http://goo.gl/maps/wS3wO
ฟรีโปสเตอร์ รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย http://flic.kr/p/bZDSWQ
แผนที่ธรณีวิทยา จ.พังงา http://www.dmr.go.th/download/pdf/South/Pangnga.pdf

ข้อมูล กรมทรัพยากรธรณีวิทยา
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น